- Call Us: (02) 003-3781-2
- Email: info@tct.or.th
สทค. ร่วมกับคณะนิติศาสตร์จุฬา จัดเสวนาโต๊ะกลม “โดรนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล”
วันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาโต๊ะกลมทางวิชาการเรื่อง “โดรนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล” ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและสะท้อนปัญหาในเรื่องการนำโดรนมาประยุกต์ ใช้ในเรื่องต่างๆ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ในการเสวนาได้ให้ความเห็นว่า ควรมีการแก้ไขกฎหมายที่เหมาะสมกับอากาศยานไร้คนขับ มีองค์กรกำกับดูแลโดยเฉพาะ และมีการพัฒนาบุคลากรโดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตผู้ควบคุมโดรน โรงเรียนสำหรับฝึกสอน พร้อมสอบวัดความรู้ให้มีมาตรฐานสากล
คุณสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและรองเลขาธิการวิชาการดิจิทัล สทค. ได้ให้ความเห็นว่า หน่วยงานที่จะมากำกับดูแลโดรนได้ดีที่สุดคงไม่พ้นสำนักงานการบินพลเรือน เพราะกฎหมายที่กำกับดูแลอากาศยานไร้คนขับขึ้นอยู่กับกระทรวงคมนาคม สำนักงานฯ เป็นผู้ดูแลมาตั้งแต่ต้นจึงมีความเหมาะสมที่จะดูแลต่อไป ดังนั้นควรได้รับการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ กำลังคน และอำนาจหน้าที่ในการดูแลที่คล่องตัวสามารถตอบสนองกับความต้องการ ใช้งานโดรนที่เพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ผู้ผลิตนำเข้ามาให้บริการ ทำให้จำนวนโดรน ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จุดสำคัญควรมีแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาโดรนอย่างจริงจัง โดยมองการพัฒนาให้ครอบคลุมทุกด้าน และโดรนเป็นเครื่องมีอที่เป็นประโยชน์ทั้งในการสำรวจดูแลทรัพยากร การลดต้นทุนในการสำรวจของภาคอุตสาหกรรม การเป็นเครื่องมือในการนำความช่วยเหลือฉุกเฉินและบริการทางการแพทย์ ไปให้ถึงเป้าหมายในเหตุการณ์เร่งด่วนและพื้นที่ห่างไกล และเป็นทางเลือกในธุรกิจขนส่งในอนาคต ฯลฯ ทั้งนี้ ในอนาคต สทค. จะร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย หรือออกกฎหมายส่งเสริมกิจการโดรนที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากทุกภาคส่วนให้มีการพัฒนาโดรนอย่างยั่งยืนเพื่อให้เป็นอุปกรณ์ที่เกิดสมดุลระหว่างการส่งเสริมและการดูแลอย่างแท้จริง
เอกสารประกอบการเสวนา
ข้อสังเกตต่อกฎหมายไทยที่เกี่ยวกับโดรน
สรุปประเด็นเชิงนโยบายและกำกับดูแลโดรนฯ
challenge in Information Acquisition using UAV