สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย จับมือกลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมผนึกกำลังเตรียมแผนบริหารจัดระเบียบสายสื่อสาร ตอบสนองนโยบายภาครัฐ

 

(เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างความตระหนักในด้านการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาสายสื่อสารด้วยวิธีการต่างๆโดยมีผู้ประกอบการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ดังกล่าว 10 ราย ได้แก่
1. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือ AIS
2. บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC
3. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT
6. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT
7. บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ Symphony
8. บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL
9. บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือ UIH
10. บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) ALT
โดยได้รับเกียรติจากพลอากาศเอก ดร. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน และ ดร.มนต์ชัย หนูสง นายกสมาคมฯกล่าวเปิดงาน ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพ
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจะร่วมมือกันสร้างความตระหนักในด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือกับภาครัฐในการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อแก้ไขปัญหาสายสื่อสารด้วยวิธีการต่างๆ ตลอดจนร่วมกันศึกษาสภาพปัญหา ผลกระทบ เพื่อหาข้อสรุป รูปแบบ แนวทาง แผนการดำเนินงาน วิธีการที่ชัดเจน และมีมาตรฐานที่เหมาะสมเกี่ยวกับการจัดระเบียบสายที่สามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ โดยคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน อาทิ
ด้านกฎระเบียบ มาตรฐาน แนวปฏิบัติที่เป็นสากลในต่างประเทศ เทคโนโลยี ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และภาระการใช้งานของประชาชนในอนาคต
ทั้งนี้ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างเต็มที่ในการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาสายสื่อสารที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหมดไป เพื่อให้บ้านเมืองมีความสวยงาม ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเกิดการพัฒนาด้านกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า ประชาชนได้รับประโยชน์และใช้บริการโทรคมนาคมที่ทันสมัย
และการลงนามในครั้งนี้ จะเป็นการยืนยันความร่วมมือของผู้ประกอบการโทรคมนาคมกับภาครัฐในการร่วมกันดำเนินงานการแก้ไขปัญหาสายสื่อสาร และผู้ประกอบการโทรคมนาคมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามารถดำเนินการได้ โดยเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม และตอบสนองต่อการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐในการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงไม่ก่อให้เกิดภาระการใช้งานของประชาชนที่ต้องได้รับในอนาคต