ระเบียบชมรม

ผู้ใช้บริการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย

หมวดที่ 1

บททั่วไป

ข้อ 1.    ชมรมนี้ชื่อว่า   “ชมรมผู้ใช้บริการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า

“TELECOMMUNICATION USERS CLUB OF THAILAND” มีชื่อย่อ

“TUCT” อยู่ภายใต้ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ข้อ 2.    เครื่องหมายของชมรมเป็นรูปกรอบสี่เหลี่ยมมีอักษรภาษาอังกฤษตัว T,U,C,T ประกอบกันอยู่ภายใน และมี TCT ตัวเล็กอยู่ด้านข้างดังนี้

TUCT

ข้อ 3.    ชมรมมีสถานที่ติดต่อคือ

40/54 ซอยอินทามระ 8 ถนนสุทธิสารวินิจฉัย แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 

โทรศัพท์ : 02-616-6936-8

โทรสาร : 02-616-6940

http://www.tct.or.th

E-mail :ttct @tct.or.th

ข้อ 4.    คำจำกัดความ

               ชมรม                   หมายถึง ชมรมผู้บริการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย

สมาชิกชมรม       หมายถึง สมาชิกชมรมผู้ใช้บริการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย

สมาคม                 หมายถึง สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

สมาชิกสมาคม     หมายถึง สมาชิกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

หมวดที่ 2

วัตถุประสงค์

ข้อ 5.    ชมรม  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้บริการโทรคมนาคมได้รับประโยชน์เต็มที่ตามกฏหมายและส่งเสริมกิจกรรมด้านโทรคมนาคมและกิจกรรมอื่นๆ              ที่เกี่ยวข้องระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ใช้บริการโทรคมนาคม ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 6.    เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ชมรมจะจัดให้มีกิจกรรมดังต่อไปนี้ คือ

(1)  ร่วมมือ  และประสานงานกับสมาคมอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ สูงสุดแก่สมาชิก

(2)  สนับสนุนให้มีการจัดให้บริการที่ดี มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล

(3)  เป็นตัวกลางรับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้ผู้ให้บริการมีความรับผิดชอบอย่างเป็นธรรมในการ ประกอบธุรกิจ

(4)  สนับสนุนให้มีการกำหนดราคาค่าบริการอย่างยุติธรรม มีความเป็นธรรมทั้งผู้ใช้เพื่อเสนอแนะต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต่อผู้ให้บริการ

(5)  เสริมสร้างโอกาสให้ผู้ใช้บริการ สามารถเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการหลายๆ รายที่มี การแข่งขันกัน หรือเลือกซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมจากตลาดเสรีที่มีผู้แทนจำหน่าย หลายรายแข่งขันกัน โดยเน้นให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุด

(6) พบปะสังสรรค์ และสร้างความสามัคคีในหมู่สมาชิกของชมรม

(7) ประสานงานกับองค์กรอื่นทั้งใน และต่างประเทศเพื่อประโยชน์ของสมาชิก

(8) กิจกรรมอื่นที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งชมรม

หมวด 3

สมาชิกภาพ

ข้อ  7. สมาชิกชมรมต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

             (1) สมาชิกสามัญได้แก่บุคคลที่บรรลุนิติภาวะ และเป็นสมาชิกสมาคม

             (2) สมาชิกนิติบุคคล ได้แก่ นิติบุคคลที่เป็นสมาชิกสมาคม และเป็นผู้ใช้บริการโทรคมนาคม หรือผู้ใช้บริการรับ-ส่งข้อมูล

             (3) สมาชิกกิตติมศักดิ์  ได้แก่ผู้มีอุปการะคุณแก่ชมรม หรือสมาคม หรือผู้ทรงเกียรติที่ได้รับการ  เสนอชื่อและผ่านการรับรองจากที่ประชุมคณะกรรมการสมาคม โดยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 2  ใน 3 ของคณะกรรมการบริหารสมาคมที่เข้าร่วมประชุม และผู้ได้รับการเสนอชื่อตอบรับ 

             (4)สมาชิกสมทบ  ได้แก่นักเรียน  นิสิต และนักศึกษา

ข้อ  8. ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก  ให้แสดงความจำนงโดยยื่นใบสมัครตามแบบที่ชมรมกำหนด

ในการนี้จะต้องมีสมาชิกสามัญเป็นผู้รับรอง 2 คน หรือสมาชิกนิติบุคคลเป็นผู้รับรอง 1 หน่วยงาน ใบสมัครให้ยื่นต่อเลขาธิการชมรม เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหาร พิจารณาอนุมัติ

ข้อ  9. คณะกรรมการบริหารมีอำนาจไม่รับผู้สมัครคนใดเข้าเป็นสมาชิก  ในเมื่อมีเหตุผลสมควรเชื่อว่า การรับ สมัครผู้นั้น  อาจนำความเสื่อมเสียมาสู่ชมรมได้

หมวด 4

สิทธิของสมาชิก

ข้อ  10. สมาชิกมีสิทธิ

ใช้สถานที่ของชมรม ตามระเบียบว่าด้วยการใช้สถานที่

ได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่ชมรมจัดให้มีขึ้น

เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ชมรมจัดให้มีขึ้น

เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของชมรมต่อคณะกรรมการบริหาร

เข้าร่วมประชุมใหญ่ของชมรม และออกเสียงลงมติ

เลือกตั้งกรรมการบริหารของชมรม

ได้รับการเลือกตั้ง หรือ แต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารของชมรม

เข้าชื่อร่วมกันไม่ต่ำกว่า 100 คน หรือเกินกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเพื่อร้องขอต่อ คณะกรรมการบริหารให้ทำการตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของชมรม หรือให้จัด ประชุมใหญ่วิสามัญ

เชิญบุคคลภายนอกมาเป็นแขกของชมรมได้โดยความรับผิดชอบของสมาชิก ผู้นั้นแต่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบของชมรมด้วย

ยกเว้น   สมาชิกนิติบุคคลไม่มีสิทธิตาม (7)

สมาชกสมทบและสมาชิกวิสามัญไม่มีสิทธิตาม  (6)  (7) และ  (8)

หมวด 5

หน้าที่ของสมาชิก

ข้อ  11. สมาชิกมีหน้าที่

ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบของชมรม

ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิก

 ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของชมรมให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ร่วมกิจกรรมที่ชมรมได้จัดให้มีขึ้น

เผยแพร่ชื่อเสียงให้แก่ชมรมให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

แจ้งเป็นหนังสือให้เลขาธิการทราบในโอกาสแรกที่ย้ายที่อยู่หรือสำนักงาน

ชำระค่าสมาชิกตามอัตราที่กำหนดในข้อ 12

ข้อ  12.  อัตราค่าสมาชิก

สมาชิกสามัญได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าสมาชิก

สมาชิกสมทบ 50 บาท

สมาชิกนิติบุคคลหน่วยละ 1,000  บาทต่อปี

สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าสมาชิก

ข้อ 13  อัตราค่าสมาชิกจะเปลี่ยนแปลงได้ ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี

 หมวด 6

       การขาดจากสมาชิกภาพ

ข้อ  14.  สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเมื่อ

ตาย

ลาออกเป็นลายลักษณ์อักษร

ล้มละลายหรือกระทำความผิดทางอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก  เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ 4.

มีความประพฤติอันนำความเสื่อมเสียมาสู่ชมรม และคณะกรรมการบริหารมีมติให้ถอด

ถอนสมาชิกภาพด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมประชุม

สมาชิกสมทบที่พ้นจากสภาพการเป็นสักเรียน นิสิต นักศึกษา

ค้างชำระหนี้ต่อชมรม และภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่เหรัญญิกได้กำหนดวันชำระแล้วยังเพิกเฉย

หมวด 7

    การกลับเข้าเป็นสมาชิก

ข้อ  15.  ผู้ขาดจากสมาชิกตามข้อ 14(6)  จะกลับเข้าเป็นสมาชิกอีกก็ได้  แต่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ที่กำหนดไว้ในข้อ  8 และได้ชำระหนี้ค้างแก่ชมรมครบถ้วนแล้ว

ข้อ  16.  ผู้ซึ่งขาดสมาชิกตามข้อ  14(4) อาจขอกลับเข้าเป็นสมาชิกอีกก็ได้  เมื่อได้มีคำร้องขอกลับเข้า มาเป็นสมาชิกอีก คำขอนี้ต้องมีสมาชิกสามัญเสนอ 1 คน และมีสมาชิกสามัญรับรองอีก 3 คน    และคณะกรรมการบริหารด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย  2  ใน 3 ของจำนวนกรรมการที่เข้าร่วม  ประชุม อาจมีมติให้กลับเข้าเป็นสมาชิกอีกก็ได้

 หมวด 8

คณะกรรมการบริหาร

ข้อ  17.  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการบริหาร”  ประกอบด้วยสมาชิกสามัญ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีไม่น้อยกว่า 7 คน และไม่ เกิน 13 คน รวมกับผู้แทน ซึ่งแต่งตั้งโดยสมาคมอีก 2 คน ทำหน้าที่บริหารงานของชมรม

ข้อ  18.  ให้คณะกรรมการบริหารเลือกคณะกรรมการบริหารผู้หนึ่งเป็นประธานชมรมโดยการออก เสียงลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้มีการเลือกตั้งใหม่ระหว่างผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากเท่ากัน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากันอีกให้ใช้วิธีจับฉลาก  กรรมการบริหารที่ไม่อยู่ในที่ประชุมการเลือกตั้งประธานชมรม มีสิทธิได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานชมรมต่อเมื่อมีหนังสือยืนยันว่าจะรับเป็นประธานชมรม ประธานชมรม มีสิทธิแต่งตั้งกรรมการบริหารเป็นรองประธาน  เลขาธิการ เหรัญญิก และ ตำแหน่งอื่น ๆ ที่เห็นสมควร

ข้อ  19.  คณะกรรมการบริหารดำรงตำแหน่งตามวาระ มีกำหนดคราวละ 2 ปี  กรรมการที่ออกไปตามวาระ แล้วอาจได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารได้อีก กรรมการบริหารที่มีตำแหน่ง จะอยู่ในตำแหน่งเดียว กันได้ ติดต่อไม่เกิน 2 วาระถ้ามีตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุใด ๆ นอกจากถึงคราวออกตาม วาระ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารลงมติเลือกสมาชิกเป็นกรรมการแทน และกรรมการที่เข้ามา รับตำแหน่งนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาตามวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ  20. คุณสมบัติของกรรมการ 

กรรมการบริหารของชมรมจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

เป็นสมาชิกสามัญของชมรม

ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างประจำของชมรม

ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

ไม่เป็นโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ

 ข้อ  21. การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ

กรรมการของชมรมย่อมพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้

ครบกำหนดออกตามวาระ

ลาออกเป็นลายลักษณ์อักษร และคณะกรรมการบริหารได้ลงมติอนุมัติแล้ว

ขาดคุณสมบัติตามข้อ 20 และ/หรือขาดสมาชิกภาพตามข้อ 14(4) หรือ14(6)

ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ข้อ  22. คณะกรรมการบริหารจัดประชุมอย่างน้อยสองเดือนต่อหนึ่งครั้ง โดยประธานชมรมเป็นประธาน

ที่ประชุม  ในกรณีจำเป็นกรรมการบริหารไม่น้อยกว่า 3 คน จะลงชื่อร่วมกันเชิญประชุมคณะกรรมการบริหารวิสามัญได้ จำนวนคณะกรรมการบริหารต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จึงจะครบองค์ประชุมถ้าประธานชมรมไม่อยู่ให้รองประธานชมรมเป็นประธานแทน ในกรณีที่ประธานและรองประธานไม่อยู่ให้กรรมการบริหาร ที่มาประชุมเลือกกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งเป็นประธานแทน

ญัตติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร โดยปกติให้ตัดสินด้วยคะแนนเสียงรับรองเกินกึ่ง

หนึ่งของผู้ที่เข้าร่วมประชุม เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าสมาชิกที่รับรองและคัดค้านในญัตติ

ใดมีจำนวนเท่ากันพอดี ให้ประธานเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด                                               

ข้อ  23. คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

บริหารงานของชมรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของชมรม และมติของที่ประชุมใหญ่

วางระเบียบในการปฏิบัติงานของชมรม

กำหนดการตามมติที่ประชุมใหญ่ของสมาคมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชมรม

อื่น ๆ

   หมวด  9

การประชุมใหญ่

ข้อ  24. การประชุมใหญ่ให้แบ่งออกเป็น  2 ประเภท  คือ

ประชุมใหญ่สามัญประจำปี  จัดให้มีขึ้นก่อนการประชุมใหญ่ของสมาคม

การประชุมใหญ่วิสามัญ  จะจัดให้มีขึ้นเมื่อคณะกรรมการบริหารเห็นสมควร หรือเมื่อสมาชิก

     ข้อ  10(8)   ร้องขอ

ข้อ  25. ในการประชุมใหญ่ของชมรม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมใหญ่ประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญ 

จะต้องมีสมาชิกประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ จำนวนสมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่า 50 คน 

จึงจะเป็นองค์ประชุม

ข้อ  26.  ญัตติของที่ประชุมใหญ่ปกติให้ตัดสินด้วยเสียงรับรองเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่เข้าประชุม

เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าสมาชิกที่รับรองและคัดค้านในญัตติใดมีจำนวนเท่ากันพอดี

ให้ประธานเป็นผู้ออกเสียชี้ขาด

สมาชิกมีสิทธิ ออกเสียงได้ดังต่อไปนี้

สมาชิกสามัญ 1 เสียง

สมาชิกนิติบุคคล  1 เสียง

ข้อ  27. กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่สามัญ มีดังนี้

รับรองรายงานการประชุมใหญ่คราวก่อน

พิจารณารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินกิจการของชมรมที่ผ่านมาในรอบปีแล้ว

     รายงานต่อสมาคม

พิจารณางบดุล

เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารในที่ครบกำหนด

(5) แต่งตั้งผู้สอบบัญชีประจำปีและกำหนดค่าตอบแทน

(6) เรื่องอื่น ๆ   

หมวด 10

 การเงิน

ข้อ 28. เงินสดของชมรม นำไปฝากธนาคารตามหลักเกนฑ์และวิธีที่คณะกรรมการบริหารกำหนด

การสั่งจ่ายเงินด้วยเช็คหรือ ตั๋วเงิน ให้ประธานชมรม หรือรองประธาน หรือกรรมการที่คณะกรรมการ

บริหารมอบหมาย หรือผู้มีอำนาจลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือผู้รักษาการแทนเหรัญญิก  

การใช้จ่ายเงินของชมรมตามวัตถุประสงค์ในข้อบังคับให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะ  

กรรมการบริหาร การใช้จ่ายเงินของชมรมเพื่อ กิจการบริหารของสำนักงานของชมรมให้คณะกรรมการ 

บริหารวางระเบียบให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานชมรมใช้จ่ายตามงบประมาณและวงเงินที่คณะ กรรมการ

บริหารกำหนด

ข้อ 29. อำนาจและหน้าที่เหรัญญิก

ให้เหรัญญิกมีหน้าที่ดูแลให้มีการจัดทำบัญชีรับ-จ่าย บัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ตลอดจนบัญชีอื่น ๆ เท่าที่จำเป็น เพื่อแสดงฐานะของสมาคมโดยถูกต้องทั้งจะต้องจัดให้มีการเก็บรักษาเอกสาร

ใบสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับการบัญชีไว้ให้ผู้ตรวจสอบบัญชี และเป็นหลักฐานเหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดในขณะใดขณะหนึ่งไว้ได้ไม่เกินจำนวน ที่คณะกรรมการบริหารกำหนด โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี

ข้อ 30. การลงนามในเอกสารต่างๆ  ในการทำนิติกรรมใด ๆ ของชมรม หรือการลงลายมือชื่อในเอกสาร

ตราสาร อันเป็นหลักฐานของชมรม และการอรรถคดีนั้น เมื่อประธานชมรม หรือรองประธานชมรม

หรือกรรมการอื่นสองรายที่คณะกรรมการบริหารมอบหมาย ได้ลงลายมือชื่อแล้วเป็นอันใช้ได้

ข้อ 31. การจัดทำงบดุล  ให้คณะกรรมการบริหารจัดทำงบดุลปีละครั้งแล้วส่งให้ผู้สอบบัญชีไม่เกินเดือน

มกราคมของทุกปี  แล้วมอบให้ผู้สอบบัญชีตรวจาสอบให้แล้วเสร็จก่อนวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี

ข้อ 32. ปีการบัญชีให้ถือเอาวันที่ 31 เดือนธันวาคม ของทุกปีเป็นวันสิ้นปีทางการบัญชีของชมรม

ข้อ 33. ให้คณะกรรมการบริหารส่งสำเนางบดุล ซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้วและรายงานประจำปีแสดงผล

การดำเนินกิจการของชมรมในรอบปี ไปยังสมาชิกก่อนวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีไม่

น้อยกว่า 15 วัน

ข้อ 34. ผู้สอบบัญชีมีอำนาจเข้าตรวจสอบบัญชี และบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินของชมรม

และมีสิทธิสอบถามกรรมการตลอดจนเจ้าหน้าที่ของชมรมทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีและ

เอกสารเช่นว่านั้น

หมวด 11

  การแก้ไขระเบียบของชมรม

ข้อ 35. การจะแก้ไขระเบียบของชมรมทำได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ชมรม หรือตามมติที่ประชุมใหญ่ของ

สมาคมโดยมีคะแนนเสียงรับรอง ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมใหญ่ของชมรม

หรือสมาคมแล้วแต่กรณี

หมวด 12

การเลิกชมรม

ข้อ 36. มติพิเศษ

มติพิเศษของชมรม พึงใช้เพื่อญัตติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อสถานภาพชมรมเป็นต้น

ว่า เลิก ยุบ รวม หรือโอนทรัพย์สินให้องค์กรอื่นอย่างมีนัยสำคัญ

มติพิเศษให้หมายถึง  ญัตติที่ได้รับเสียงสนับสนุนในที่ประชุมใหญ่ของชมรม 1 ครั้ง และที่ 

ประชุมใหญ่ของสมาคม อีก 1 ครั้งตามลำดับ ด้วยเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละครั้ง

ข้อ 37. การยุบหรือ การเลิกชมรม ไม่ว่าโดยมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ หรือโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ให้

โอนทรัพย์สินของชมรม หรือขายทอดตลาด แล้วนำเงินโอนให้แก่สมาคม

 หมวด 13

       บทเฉพาะการ

ข้อ 38. คณะกรรมการบริหารชุดแรกในระยะเริ่มก่อตั้ง ให้นายกสมาคม แต่งตั้งจากสมาชิกของสมาคม โดยเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม ตามจำนวนที่ระบุในข้อ 17 และ ให้คณะกรรมการ บริหารชมรม ที่ได้รับการแต่งตั้งดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งการรณรงค์รับสมาชิกได้ทันที โดยการสนับสนุนของสมาคม

ให้ใช้ระเบียบนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไป

  (นายศรีภูมิ  ศุขเนตร)

นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์