- Call Us: (02) 003-3781-2
- Email: info@tct.or.th
Green ICT ตอนที่ 18
ตอนที่แล้วได้พูดถึงเรื่องความพอเพียงในโทรคมนาคมและได้ยกความเกี่ยวเนื่อง กับการให้บริการโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมหรือ USO เพราะการให้บริการอย่างทั่วถึงและเพื่อสังคมนั้นจะมุ่งเน้นที่ความเท่าเทียม กันของโอกาสในการเข้าถึงโครงข่ายทั้งในมิติของความครอบคลุม ลักษณะกลุ่มผู้ใช้และค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถใช้หลักการของ Green ICT มาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน
ร่างแผน USO ฉบับล่าสุดมุ่งเน้นที่การให้โอกาสในการเข้าถึงบริการสื่อสารโดยเน้นทั้ง บริการเสียงและข้อมูล คือบริการโทรศัพท์พื้นฐานและบริการอินเทอร์เน็ตตามเป้าหมายทั้งหกเป้าหมายใน ระยะเวลาห้าปี (2555 - 2559) โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็นสามกลุ่มคือ 1. บริการเสียง 2. บริการข้อมูลและ 3. บริการสื่อสารเฉพาะสำหรับคนพิการ (ทางตาและการได้ยิน) การลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการพัฒนาบุคลากร ในร่างฉบับนี้มีบทวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคและแนวทางในการจัดทำแผน อย่างไรก็ดีจากเป้าหมายในระยะเวลาห้าปีของแผนจะเน้นเชิงปริมาณที่เป็นการวัด ในเชิงตัวเลข มากกว่าค่่าทางสังคมซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นการยากที่จะวัดค่าออกมาได้
ไม่แน่ใจว่าผู้เขียนเข้าใจถูกหรือไม่ว่า แผน USO มีเป้าหมายเพื่อการลดช่องว่าในการเข้าถึงของกลุ่มคนในแต่ละพื้นที่ให้มี โอกาสในการเข้าถึงการสื่อสารพื้นฐานที่จำเป็นและสำคัญในเวลานั้นๆ จึงไม่ได้มองปัจจัยดัานสังคมและความสมดุลย์ของสิ่งแวดล้อม ในทางปฏิบัติคงต้องนำองค์ประกอบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมพิจารณา ด้วยเพื่อให้เกิดความสมดุลย์และสร้างความยั่งยืนถาวรของพื้นฐานทางสังคมที่ สำคัญสามประการตามที่เคยกล่าวไว้ในบทความก่อนหน้านี้คือ ความสมดุลย์ของสิ่งแวดล้อม (Ecological Balance) กระบวนการทางสังคม (Social Progress) และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) เพราะถ้าการลดช่องว่างด้านการเข้าถึงการสื่อสารโดยขาดซึ่งความสมดุลย์ ของกระบวนการทั้งสามแล้ว จะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆอย่างมาก
สาระสำคัญอีกประการที่ควรมีตัวชี้วัดในแผน USO และเกี่ยวข้องกับ Green ICT คือเรื่องของความน่าเชื่อถือของโครงข่าย (Reliability) โดยเป้าหมายในแผนไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ ความน่าเชื่อถือของโครงข่ายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการใช้งานโครงข่าย ถ้าความเร็วของโครงข่ายถึงตามกำหนดแต่หลุดบ่อย โครงข่ายล่มบ่อยก็คงไม่ใช่โครงข่ายที่ดีนัก นอกจากนี้ปัจจัยด้านการใช้งานร่วมของผู้ประกอบการ ผู้มีอำนาจควบคุมก็ควรจะต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติให้ได้ผลอย่างจริงจัง เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินการอันจะส่งผลต่อต้นทุนโครงข่ายและราคาที่จัดเก็บ จากผู้ใช้บริการ
ข้อสังเกตุอีกประการหนึ่งคือแผน USO ไม่ได้เน้นที่การใช้โครงข่าย 3G เป็นตัวหลักในการดำเนินการซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง 3G นั้นเป็นแค่ส่วนเสริมในแผนเช่นการใช้งานร่วมกับ Wireless Local Loop เพื่อให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานหรืออาจรวมถึงอินเทอร์เน็ตด้วย โครงข่ายที่เป็นหลักควรเป็นแบบ Wireline มากกว่าและถ้าเป็น Wireless ก็น่าจะเป็น Wireless Broadband บนคลื่นความถี่อื่นมากกว่า 3G เหมือนกับที่ทางประเทศเกาหลีใต้ก็ใช้เทคโนโลยี WiBro ถึงตรงนี้คงต้องขอพูดอีกครั้งว่ากรุณาอย่าอ้างความจำเป็นในการมี 3G ของประเทศเพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารหรือ Digital Divide ตามที่หลายๆท่านชอบ เพราะไม่มีผู้ประกอบการไหนยอมลงทุนโครงข่ายของตัวเองในพื้นที่ USO ตราบใดที่ยังไม่มีการลงทุนในพื้นที่เมืองหรือพื้นที่ที่มีโอกาสทางธุรกิจ อย่างแน่นอน