ผลจากการเปิดเสรีทางการค้าทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกของ WTO ต้องเปิดเสรีทางการค้ากิจการโทรคมนาคม ส่งผลให้เกิดพรบ. ต่างๆที่เกี่ยวข้องตามมาอีกมากมาย และเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดเรื่อง USO อันที่จริงก่อนหน้าที่จะมีบริการ USO บางหน่วยงานก็ได้มีการจัดให้บริการที่มีลักษณะคล้ายกับ USO เรียกว่า บริการสาธารณะหรือ PSO (Public Service Obligation) ซึ่งหมายรวมถึงบริการสาธารณะพื้นฐานต่างๆที่จำเป็นหนึ่งในนั้นก็คือบริการโทรคมนาคม
 

     การเปิดเสรีทางการค้าก่อให้เกิดการแข่งขันของผู้ประกอบการภายใต้ข้อกำหนด ขององค์กรอิสระที่ควบคุมให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคและผู้ให้บริการ และยังส่งผลให้เกิดการแข่งขันในระดับโลก (Globalization) มากขึ้น การขยายตัวของตลาดจากภายในประเทศเป็นระดับสากลนี่เองทำให้บริการโทรคมนาคม เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากส่งผลให้ความต้องการของประชาชนเปลี่ยนแปลงและทำให้ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

     ผลกระทบนี้ส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคหลายประการประการแรกคือก่อให้เกิดการตื่นตัวในการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานและบริการเพื่อสังคมประการที่สองคือผู้บริโภคได้รับโอกาสในการได้รับบริการที่ดีขึ้นในราคาที่เหมาะสมขึ้น ประการที่สามคือการเปิดเสรีส่งผลกระทบต่อแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศ ผลการวิจัยในครั้งนี้หลังจากการเก็บข้อมูลประชาชนผู้ใช้บริการทั่วประเทศตามขั้นตอนที่กล่าวไว้ในบทความตอนแรกสามารถสรุปความต้องการของผู้ใช้บริการภายใต้กรอบแนวคิดการเปิดเสรีทางการค้าตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีต่อ บริการโทรคมนาคมดังนี้

 

  1. การเปิดเสรีทางการค้าทำให้การกระจายของบริการทั่วถึงมากขึ้น หมายความว่ารูปแบบของบริการจะไม่มีความแตกต่างกันไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด ซึ่งความหมายของการกระจายของบริการนี้โดยนัยแล้วจะรวมถึงความครอบคลุมและคุณภาพของโครงข่ายเนื่องจากบริการบางประเภทจำเป็นต้องมีการขยายโครงข่ายควบ คู่ไปกับการเปิดให้บริการ
  2. เกิดความหลากหลายในบริการทั้งชนิดของบริการและผู้ให้บริการทำให้ไม่เกิดการผูกขาดและผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
  3. เมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าผู้บริโภคคาดหวังว่าอุปกรณ์ด้านการสื่อสารจะเกิดการแข่งขันกันในการจัดจำหน่ายทำให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเลือกใช้บริการหรืออุปกรณ์ที่ใช้งานได้ง่ายและเหมาะสมกับการใช้งานของผู้บริโภคแต่ละคนมากขึ้น
  4. ความคาดหวังอีกประการของผู้บริโภคต่อการเปิดเสรีทางการค้าคืออัตราค่าบริการที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น

ผลการวิจัยครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันที่ดีให้กับผู้ให้บริการ (Providers) ว่าการแข่งขันในตลาดธุรกิจโทรคมนาคมนั้น ผู้ใช้บริการคาดหวังเพียงแค่ที่ จะเห็นผู้ให้บริการมุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญกับพื้นที่การให้บริการที่ครอบคลุมคุณภาพของบริการ ตลอดจนรูปแบบของบริการที่มีทางเลือกและทัดเทียมกันในทุกพื้นที่การให้บริการนั่นคือแผนการตลาดควรมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ของคุณภาพ (Quality of Service)  มากกว่าการเน้นนโยบายด้านการตลาดในเรื่องอื่นๆเช่นยุทธศาสตร์การสร้างความแตกต่าง (Differentiate)  ข้อมูลนี้น่าจะเป็นข้อมูลสนับสนุนที่ดีให้ผู้ให้บริการได้ตระหนักถึงการวางแผนในการตลาดที่พอเหมาะพอเพียงต่อความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง และหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเนื่องจากธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มีต้นทุนจม(Sunk Costs) สูงมาก